เครื่องวัดหน่วยความเครียด STRAIN GAUGE

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน 

หัวข้อในวันนี้จะเกี่ยวข้องกันกับหัวข้อการออกแบบงานวิศวกรรมโครงสร้าง คอนกรีต (STRUCTURAL CONCRETE ENGINEERING DESIGN หรือ SCE) นะครับ

วันนี้ผมจะมาพาเพื่อนๆ ทุกคนไปทำความรู้จักกันกับอุปกรณ์ๆ หนึ่งที่จะทำหน้าที่สำคัญมากๆ เมื่อมีการทดลองทางด้านวิศวกรรม เจ้าอุปกรณ์นี้มีชื่อว่า STRAIN GAUGE นั่นเองนะครับ

หากเราจะแปลความหมายของ STRAIN GAUGE แบบตรงตัวก็คงแปลได้ว่า เครื่องวัดหน่วยความเครียด ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับความหมายจริงๆ ของมันนะครับ เพราะ จริงๆ แล้ว STRAIN GAUGE ก็คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น “เซ็นเซอร์” ที่คอยตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของ “มิติ” หรือ ค่าความเครียด ในเนื้อของวัสดุซึ่งเป็นผลมาจากแรงภายนอกที่มากระทำด้วยการให้กำเนิดสัญญาณทางไฟฟ้านะครับ

โดยเจ้า STRAIN GAUGE นี้ถูกคิดค้นขึ้นโดย เอ็ดเวิร์ด อี ซิมมอนส์ และ อาร์เทอร์ ซี รูค ในปี ค.ศ. 1938 ต่อมาได้ถูกนำมาประยุกต์และใช้ในงานทางด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงงานทางด้านเคมี การแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมากมาย เป็นต้น

โดยสิ่งที่เจ้า STRAIN GAUGE นี้สามารถที่จะตรวจสอบหรือทำการวัดค่าได้หลักๆ คือ การยืดตัว หรือ การหดตัว ของเนื้อของวัสดุ ซึ่ง การยืด หรือ การหดตัว ที่ตรวจวัดได้นี้จะทำให้รู้ว่าค่า ความเค้น ที่เกิดขึ้นในชิ้นงานได้ เพราะ ความเค้น เป็นตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการประเมิน ความแข็งแรง และ ความปลอดภัย ของชิ้นส่วนโครงสร้าง ปัจจุบันเรามีความพยายามที่จะผลิต STRAIN GAUGE ที่มีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งานในช่วงของการทำงานที่มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การวัด ค่าความเครียดแบบสถิต (STATIC) ไปจนถึงการวัด ค่าความเครียดแบบพลวัตร (DYNAMIC) และ ค่าความเครียดที่เกิดขึ้นจากการกระแทก (IMPACT) ที่มีความถี่หลายร้อยกิโลเฮิรตซ์ และ เนื่องด้วยการที่เจ้า STRAIN GAUGE นั้นมีช่วงการทำงานที่ค่อนข้างจะกว้างดังที่กล่าวมาข้างต้น เราจึงสามารถที่จะนำเจ้า STRAIN GAUGE นี้ไปใช้งานกับการทดสอบชิ้นงานของโครงสร้างที่สร้างจากวัสดุได้หลากหลายชนิด และ มีรูปร่างที่มีความแตกต่างกันออกไปได้นะครับ

 หากเพื่อนๆ มีโอกาสที่จะนำเจ้า STRAIN GAUGE นี้มาใช้งานจริงๆ ผมอยากที่จะขอให้คำแนะนำว่า เพื่อนๆ ควรที่จะทำความเข้าใจและแยกให้ออกก่อนนะครับว่า เราต้องการที่จะทราบถึง “ปริมาณ” ของสิ่งใดเป็นหลัก เพราะ นอกจาก ค่าความเครียดแล้ว STRAIN GAUGE ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับอุปกรณ์ในการตรวจวัดค่าอื่นๆ อีกด้วย เช่น ค่าแรง ค่าความดัน ค่าความเร่ง ค่าของระยะการกระจัด ค่าแรงบิด เป็นต้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเจ้า STRAIN GAUGE นั้นจะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายๆ วงการ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการทดลองและการวิจัยทางด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ ยังถูกนำมาต่อยอดและใช้งานในการตรวจวัดและควบคุมงานทางด้านอุตสาหกรรมอีกมากมายด้วย

เอาเป็นว่าผมจะขออนุญาตค่อยๆ นำความรู้เกี่ยวกับเจ้า STRAIN GAUGE นี้มาเล่าสู่กันฟังแก่เพื่อนๆ ทุกคน หากว่าเพื่อนๆ ท่านใดมีโอกาสที่จะใช้งานและมีความสนใจเป็นพิเศษ ก็สามารถที่จะติดตามและอ่านบทความของผมได้ในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ 

ADMIN JAMES DEAN